วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บล็อค (Blog) : เครื่องมือทำงานที่พร้อมทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน


บล็อค (Blog) : เครื่องมือทำงานที่พร้อมทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

ที่ว่าได้ประโยชน์ตน หมายถึง คนที่เขียนบล็อคจะมีพัฒนาการด้าน การอ่าน การเขียน การคิด และทักษะทางไอซีที สื่อ หรือเรียกว่า ได้ฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 นั่นเองครับ ส่วนที่ว่าได้ประโยชน์ท่าน หมายถึง เราจะได้แลกเปลี่ยนแบ่งปัน ความรู้และประสบการณ์ทำงานต่างๆ เพื่อนผู้อ่าน ไม่ใช่ที่อีสาน แต่ผ่านออนไลน์ไปทั่วโลก

เริ่มจาก สิ่งจำเป็นทางไอทีที่จำเป็นในการเขียนบล็อค 5 ประการได้แก่ มีบล็อคเป็นของตนเอง นำรูปจากกล้องดิจิตอลขึ้นออนไลน์ได้ นำวีดีโอจากกล้องขึ้นออนไลน์ได้ สามารถทำลิงค์ไปยังสิ่งต่างๆ และนำภาพและวีดีโอมาวางได้

มีบล็อคของตนเอง
  • มีบริการบล็อคมากมายที่ออนไลน์ให้บริการทั้งฟรีๆ และไม่ฟรี  ผมขอแนะนำไว้ 3 ที่นะครับ 
    • บล็อคของมูลนิธิสยามกัมมาจล โครงการขับเคลื่อน ปศพพ. ที่นี่ครับ มีข้อดีคือเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนในโครงการฯ
    • บล็อคของ www.gotoknow.org  เกิดขึ้นจาก สคส. ที่อาจารย์หมอวิจารณ์ท่านเริ่มไว้ มีข้อดีคือ มีความเป็นส่วนตัว ใช้ง่าย สืบค้นได้ง่าย มีผู้ใช้เยอะมาก มีชุมชนเรียนรู้เยอะมากแล้ว 
    • บล็อค gBlogger ของ google มีข้อดีเด่นที่เป็นของ google ที่ให้บริการ gmail google+ youtube ฯลฯ 
  • แนะนำให้ใช้ email ของ google ก็คือ gmail หากยังไม่มีสมัครได้ที่นี่ครับ
  • บันทึกนี้จะเน้นเอา www.gotoknow.org  เป็นตัวอย่างการเขียนบล็อคสไตล์ผมเอง แต่ความจริง บล็อคอื่นๆ ใดๆ ก็มีเครื่องมือคล้ายๆ ...
  • เริ่มที่การสมัครบล็อคของตนเอง โดยคลิกไปที่ http://www.gotoknow.org/account#/registration แล้วเข้าไปทำตามการสมัครตามขั้นตอนในเอกสารคู่มือการสมัครและการใช้เบื้องต้น ฉบับนี้ครับ (ดูคู่มือทั้งหมดได้ที่นี่ครับ) ท่านก็จะมีบล็อคของตนเอง
นำรูปในกล้องไว้บนระบบออนไลน์
  • เมื่อท่านมี gmail เป็นของท่านเองแล้ว ให้เข้าไปหน้า gmail แล้วไปคลิกที่คำว่า "More" หรือ "อื่นๆ" บนแถบสีดำด้านบน แล้วคลิกคำว่า "Photo" หรือ "ภาพถ่าย" ดังรูป ถ้าเป็นครั้งแรกที่ใช้ ท่านจงใช้ความสามารถของท่าน (หรือของลูกสาว ลูกชาย อาจารย์รุ่นน้องๆ ) ในการสมัคร google+


  • หากท่านทำสำเร็จ ท่านจะมี google+ ที่สามารถเก็บรูปได้ไม่จำกัด และมีคุณภาพดีด้วยรับ ไม่ถูก "บีบ" มาก ถ้าเป็นเก็บบนเฟสบุ๊ค ภาพจะถูกบีบจนคุณภาพหายไปมาก วิธีการอัปโหลดภาพก็เพียงคลิก "อัปโหลดภาพ" เท่านั้นเองครับ .....ลุยเลยครับ ....ที่แนะนำการเก็บภาพแบบนี้ ผมพบว่า ผมสามารถเก็บภาพการทำงานไว้ได้อย่างเป็นระบบมากครับ 

  • แน่นอนว่า ท่านต้องเอาภาพจากกล้องดิจิตอลมาไว้ในคอมพิวเตอร์ก่อนนะครับ หากทำไม่ได้ให้ปรึกษา "ลูก" ครับ...ฮา ... (ไม่มีใครช่วยได้ให้โทรหาผมครับที่  0815499870....)
  • ทดลองอัปโหลดภาพ แล้วสังเกตและหาวิธีทำสิ่งต่อไปนี้ให้ได้ครับ เปลี่ยนชื่ออัลบั้มได้ เพิ่มภาพในอัลบั้มให้ได้ ลบภาพให้ได้ จนถึงขั้น จัดระเบียบภาพ และแต่งภาพได้ .....  ตามแต่จะสนใจครับ ทำได้ครบทุกอย่าง เรียกว่าไม่ต้องง้อ "Photoshop" เลยทีเดียว 
  • เมื่ออัปโหลดได้แล้วให้คลิกเข้าไปที่ภาพนั้น จะได้ตามรูปประมาณนี้ครับ 
  •  ถึงตรงนี้ก็แสดงว่า เราเอาภาพขึ้นไว้บนอินเตอร์เน็ตได้แล้วครับ ...
 นำวีดีโอจากกล้องขึ้นออนไลน์ได้
  • คลิกที่คำว่า "Youtube" ในบริเวณแถบดำด้านบน แถบเดียวกับที่เราคลิกคำว่า "More" จะได้หน้าเว็บดังรูปครับ 
  •  จะเห็นที่คลิกสำหรับการ "อัปโหลด" อยู่ด้านบน .... หากไม่มี หาแล้วไม่มี แสดงว่าท่านยังไม่ได้สมัคร youtube ต้องถาม "ลูก" อีกแล้วครับ...
  • ทดลองอัปโหลดวีดีโอใดๆ ที่ท่านมีในคอมพิวเตอร์  ควรเป็นคลิปสั้นๆ ก่อนนะครับ (ทดสอบๆ)  แล้วทดลองหาวิธีจัดการสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ เปลี่ยนชื่อไฟล์วีดีโอ กำหนดรูปปะหน้า ลบวีดีโอ ฯลฯ   
  • แล้วคลิกเข้าไปที่วีดีโอของท่านสักอันหนึ่งนะครับ จะได้หน้าประมาณนี้ 

  • ถึงตรงนี้ เราก็มีบล็อค มีภาพ มีคลิปวีดีโอ แบบ "ปฐมภูมิ" ที่เราทำเองแล้วครับ พร้อมที่จะเขียนบันทึกการทำงานไว้แลกเปลี่ยนกันแล้วครับ 
 สามารถทำลิงค์ไปยังสิ่งต่างๆ และนำภาพและวีดีโอมาวางได้

  • เริ่มด้วยการเข้าไปที่ www.gotoknow.org ล็อคอิน เข้าไปในแอคเคาท์ของตนเอง แล้วคลิกที่คำว่า "เขียน" แล้วคลิก "บันทึก" จะได้หน้านี้ออกมากครับ 



  • วิธีการแทรกลิงค์ ให้ "แดร๊ก" (ลากเลือก) ข้อความที่ต้องการใช้เป็นที่สำหรับ "คลิกลิงค์" โดยมากผมจะใช้คำว่า "ที่นี่"  ตัวอย่างอย่าง  .....หากท่านผู้สนใจสามารถอ่านได้ที่นี่.... ฯลฯ แล้วกดเครื่องหมาย "ลูกโซ่เอียง" จะได้รูปดังหน้านี้ครับ 
  •  จากนั้นก็ไปยังหน้า page ที่เราต้องการลิงค์ไปหา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการลิงค์ไปยังบันทึกนี้ 

  •  เลือกลิงค์ในกล่องเหนือบันทึกดังรูป แล้วกด Ctrl+C (กดปุ่ม Ctrl กับปุ่ม C พร้อมกัน) แล้วนำไปวางในช่อง Url จะได้ภาพดังนี้ 

  •  แล้วกด "Ok" เป็นเสร็จการทำลิงค์ไปยังที่ที่ต้องการ
ต่อไปเป็นแทรกรูป
  • คลิกวาง "เคอเซอร์" ไว้ที่ๆ ต้องการแทรกภาพ แล้วคลิกที่กล่องสัญลักษณ์รูปภูเขา เพื่อแทรกภาพ จะได้หน้าดังนี้ 

  • ไปที่หน้ารูปภาพจาก google+ ที่เราเปิดไว้ แล้วคลิกปุ่มขวาของเมาส์ แล้วเลือก "คัดลอกที่ตั้งลิงค์" หรือ "Copy image URL" ดังรูป
  •  แล้วกลับมายังหน้าบันทึก แล้ว "วาง" (ง่ายสุดคือกดแป้น "ctrl+C") ลงบนช่อง Url แล้วกด "Ok" จะได้ภาพดับรูปครับ จะได้ภาพดังรูป
  •  ถึงตรงนี้คือได้ลิงค์ ได้ภาพแล้วครับ 
แทรกคลิปวีดีโอ
  •   คลิกวาง "เคอเซอร์" ไว้ที่ๆ ต้องการวางวีดีโอ แล้วเลือก "ปุ่ม" แทรกวีดีโอ จะมีรูปสัญลักษณะรูปสามเหลี่ยมตะแคงขวา ที่เป็นสัญลักษณ์ทั่วไปของการ "play" แล้วเลือกตัวเลือก "embed" ดังรุป 

 
  •  ไปยังหน้าที่มีวีดีโอคลิปใน youtube ของเรา แล้ว คลิกปุ่มขวามือของเมาส์ แล้วเลือก "คัดลอก HTML แบบฝัง" หรือ ".... embed code" 

  •  เมื่อวางในช่องว่าง Paste your embed code below และกด OK จะได้ประมาณนี้ครับ 

  • เติมชื่อบันทึก เลือกชื่อสมุด เลือกหมวดหมู่ของนันทึก สุดท้ายกำหนดคำสำคัญ ก่อน "จัดเก็บข้อมูล" เป็นอันสำเร็จครับ 
ลองดูบันทึกที่เราทำง่ายๆ นี้ ที่นี่ครับ 

บันทึกต่อไปจะมาบอกเทคนิคการเขียนส่วนตัวนะครับ
ขอไปนอนก่อนล่ะครับ ....สวัสดี

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กราฟวิเคราะห์ความสำเร็จ

วันที่ 21 กรกฎาคม 2556 ผมได้ไปเรียนรู้กับปราชญ์สยามอีกท่านหนึ่งคือ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เครื่องมือหนึ่งที่ท่านนำมาใช้คือ การเขียนกราฟ "วิเคราะห์ความสำเร็จ" ผมนำมาดัดแปลงนิดหน่อย แล้วนำมาเผยแพร่ (นำมาปรับใช้) ในการขับเคลื่อน ปศพพ. อีสานบน

ดังรูปครับ

แกนนอนของกราฟแทนเวลา เป็น "เส้นเวลา" นั่นคือ Timeline นั่นเองครับ อ่านวิธีการทำ Timeline ที่นี่ครับ   จากการเขียน timeline เราจะได้ "ถอดประสบการณ์" ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างไรบ้างแล้ว  

การเขียนกราฟความสำเร็จ ก็คือ การประเมินความสำเร็จด้านต่างๆ ตามมิติของเวลา  โดยวิเคราะห์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับแต่ละองค์ประกอบหรือปัจจัยของการขับเคลื่อน  ในกรณีของการขับเคลื่อน ปศพพ. อาจพิจารณาตามเกณฑ์ก้าวหน้า โดยแบ่งพิจารณาเป็น 3 ด้าน 
  • ด้านบุคลากร เช่น ผู้อำนวยการ ครู นักเรียน กรรมการสถานศึกษา 
  • ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ/ฐานการเรียนรู้ 
  • ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกับหน่วยงานภายนอก 
วิธีการในการเขียนกราฟความสำเร็จ อาจทำดังนี้

  • กำหนดให้ "แกนตั้ง" แทนระดับของความสำเร็จด้านต่างๆ เช่น ผลลัพธ์/ความรู้/ทักษะ/ศักยภาพ หรือเป็นระดับของปัญหาอุปสรรค์ 
  • เขียนกราฟความสำเร็จฯ โดยพิจารณาให้ตรงกับเวลาที่เกิดขึ้นจริง โดยทำลักษณะของเส้นให้แตกต่างๆ ในกรณีที่ต้องการวิเคราะห์หลายปัจจัย
ตัวอย่างที่แสดงดังกราฟ คือ กราฟวิเคราะห์รดับความรู้ความเข้าใจของบุคลากร  จากกราฟจะพบว่า
  • เมื่อความรู้ความเข้าใจของผอ. เพิ่มขึ้น กราฟของครูก็เพิ่มขึ้น แสดงว่า ผอ. สามารถกับมาถ่ายทอดทำความเข้าใจให้กับครูได้  ในทำนองเดียวกัน นักเรียนก็เกิดความรู้ความเข้าใจ หลังจากที่ครูรู้และเข้าใจ ฯลฯ 

ตัวอย่างกราฟของความสำเร็จ
 


การวิเคราะห์กราฟความสำเร็จจะได้ผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเปิดใจตนเอง พิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน ตามองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เลือกมา  ประโยชน์ของ "กราฟความสำเร็จ" ที่น่าสนใจ ได้แก่ 
  • ได้ "มองตนเอง" อย่างถี่ถ้วน 
  • เมื่อพิจารณาร่วมกับ timeline จะรู้ชัดว่า ความสำเร็จนั้นๆ เป็นไปได้เพราะกิจกรรม/โครงการ หรือการดำเนินการใด 
  • หากพิจารณา "เส้นปัญหา" ร่วมกับ "เส้นองค์ประกอบหรือปัจจัยอื่นๆ " จะพบว่า ปัญหาลดลงเพราะองค์ประกอบหรือปัจจัยใด 
  • ฯลฯ
เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างของโรงเรียนประชารัฐสามัคคีข้างต้น จะพบว่า ทันทีที่ ผอ.ธีรเชษฐ์ ท่านเข้าใจ ปัญหาทุกอย่างก็ลดลงฮวบเกือบจะทันทีทีเดียวครับ

เชิญทดลองทำดูครับ






Timeline สไตล์ อ.ต๋อย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ผมคิดเครื่องมือการเขียน Timeline แบบนี้ขึ้นและทดลองใช้เป็นครั้งแรกในวันถัดมา ปรากฎว่าได้ผลดี ได้รับการสะท้อนว่าเข้าใจง่าย เลยอยากบันทึกไว้แลกเปลี่ยนที่นี่ครับ เผื่อมีประโยชน์ต่อไปครับ


ความจริงแค่ท่านพิจารณารูป ก็เข้าใจแล้ว คำอธิบายต่อไปนี้อาจทำให้เข้าใจยากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากท่านรูปไม่เข้าใจ อาจลองอ่านดูได้ครับ 
  • ขีดเส้นตามขวางหนึ่งเส้นเรียก "เส้นปัจจุบัน" แทนเวลา "ปัจจุบัน" หน้าเส้นนี้คือ "อดีต" ล่างเส้นนี้ลงไปคือ "อนาคต" 
  • ขีดเส้นตรงแนวดิ่งจากบนลงล่างกลางหน้ากระดาษ วางปลายเส้นเป็นหัวลูกศร  จรดตรง "เส้นปัจจุบัน" พอดี เรียกว่า "เส้นอดีต" จาก"เส้นปัจจุบัน" ไปสู่อนาคตด้วยเส้นที่ลักษณะแตกต่างไป เช่น เส้นประ ดังรูป เรียก "เส้นอนาคต" เส้นดิ่งนี้อาจเรียกว่า "เส้นเวลา"
  • บริเวณด้านซ้ายมือของเส้นแนวดิ่ง เป็นพื้นที่ของ กิจกรรม/โครงการ/ผลลัพธ์ ที่โรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการ 
    • โดยใช้ลูกศรพุ่งไปหา "เส้นเวลา" และเติมรายละเอียดของเวลาที่เหมาะสมไว้บนเส้นนั้น เช่น บอกเดือนและปี เป็นต้น 
    • ใช้ลูกศรพุ่งออกจาก "เส้นเวลา" เพื่อแสดงผลผลิต/ผลลัพธ์/ความสำเร็จ ที่เกิดขึ้น 
  • พื้นบริเวณขวามือของ "เส้นเวลา" นี้ ใช้สำหรับการ "เติม" จากภายนอก หรือการ "ให้" สู่ภายนอก 
    • ใช้ลูกศรพุ่งเข้าหา "เส้นเวลา" แสดง กิจกรรม/โครงการ ที่ทางโรงเรียนได้เรียนรู้หรือได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก
    • ใช้ลูกศรพุ่งออกจาก "เส้นเวลา" ไปทางขวามือ สำหรับกิจกรรม/โครงการ ที่ทางโรงเรียนได้ช่วยเหลือ แบ่งปัน ขยายผลไปสู่ชุมชน หรือโรงเรียนอื่นๆ 
  • เขียนกิจกรรม/หรือโครงการต่างๆ  เพื่อเป็นการวางแผนการดำเนินการไว้ บริเวณ "เส้นอนาคต" 
  • ใช้เครื่องหมาย + วางไว้บนเส้น แสดงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หรือมีพัฒนาการที่ดีขึ้นณะเวลานั้นๆ เพื่อนำไปเขียนเล่าเรื่องต่อไป
  • ใช้เครื่องหมายกากบาท x ลงบน "เส้นเวลา" เพื่อสื่อสารถึงจุดที่เกิดปัญหาสำคัญขึ้น อาจเขียนปัญหาไว้ในส่วนอื่นๆ ต่อไป
ผมขออนุญาตเสนอตัวอย่าง Timeline ของโรงเรียนชุมชนบ้านดอนหัน หนึ่งในน้องใหม่ที่เข้ามาร่วมโครงการได้เพียง 1 ปีครับ

โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม 


Timeline ของโรงเรียนเชียงยืน ควรจะเติมคำสำคัญของการ "เติม" จากภายนอกด้วยจะดีมากครับ 

ท่านลองเอาไปใช้ดูครับ เราจะได้เรียนรู้จากตนเองมากทีเดียว......

Timeline ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้ครับ
  1. ผู้ดูๆ แล้ว รู้ว่าชัดว่า โรงเรียนทำอะไร เมื่อไหร่ ไปแล้วบ้าง
  2. ผู้ดูๆ แล้ว รู้ว่าชัดว่า มีผลผลิตหรือผลลัพธ์ที่สำคัญอะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 
  3. ผู้ดูๆ แล้ว รู้ชัดว่า โรงเรียนมีโครงการที่ "เติม" จากภายนอกเช่น ฝึกอบรม ดูงาน ฯลฯ เรื่ออะไร เมื่อไหร่ จากใคร ส่งใครไปร่วม ได้อะไรมา ฯลฯ 
  4. ผู้ดูๆ แล้ว รู้ได้จากการวิเคราะห์ว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมใดๆ ก่อนหน้านั้น
  5. ผู้ดูๆ แล้ว รู้ได้จากการสังเคราะห์ว่า ขั้นตอนในการดำเนินการของโรงเรียนเป็นอย่างไร
  6. ผู้ ดูๆ แล้ว รู้ได้จากการประเมินค่า ว่าสิ่งที่โรงเรียนดำเนินการนั้น ถูกทางหรือไม่ เหมาะสมที่จะศึกษาในรายละเอียดเพื่อนำไปปรับใช้หรือไม่
  7. ผู้ดูๆ แล้ว รู้ชัดว่า โรงเรียนมีแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินการต่อไปอย่างไร