ความเข้าใจต่อ "การถอดบทเรียน" ของครู
ผมลองตั้งคำถามกับเวทีครู หลากหลายที่ ว่า "ถอดบทเรียน" คืออะไร มักได้คำตอบดังต่อไปนี้ครับ
- ถอดบทเรียน คือ การถอดประสบการณ์
- ถอดบทเรียน คือ การสรุปผล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
- ถอดบทเรียน คือ การสะท้อนประสบการณ์ สะท้อนสิ่งที่ทำ สะท้อนสิ่งที่ได้ สะท้อนความรู้ที่ได้จากประสบการณ์
- ถอดบทเรียน คือ การ Review ทบทวน
- ถอดบทเรียน คือ การถามตนเอง ประเมินตนเอง
- ฯลฯ
ถ้าสืบค้นด้วยคำสัญว่า "ถอดบทเรียน คือ" จะพบว่าเว็บไซต์แนะนำถึง ๑,๔๘๐,๐๐๐ เว็บไซต์ (เว็บแรกคลิกที่นี่ครับ)
ความเข้าใจของผม
"การถอดบทเรียน" เป็นเครื่องมือหนึ่งของ "การจัดการความรู้" หรือ KM ที่ผมยึดเป็นเครื่องมือในการทำงานทั้งหมด ซึ่งอาจแบ่งหมวดของเครื่องมือ ได้เป็น ๓ ส่วนตามเวลาก่อนหลังของการทำงาน ได้แก่ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ
- ก่อนทำ เรียกว่า "วางแผน" เครื่องมือที่ใช้คือ BAR (Before Action Review)
- คาดหวังหรือต้องการให้มีให้เกิดอะไรในการทำสิ่งนี้
- ต้องมีความรู้อะไร ต้องมีสิ่งใดบ้าง เพื่อให้งานนี้สำเร็จตามเป้าหมาย
- ฉันมีบทบาทในงานนั้นอย่างไร ต้องทำอะไร้บ้าง
- ปัญหาหรืออุปสรรคใดอาจเกิดขึ้นได้บ้าง หากเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร
- ระหว่างทำ เรียกว่า "ตรวจสอบ ประเมินตน" เครื่องมือที่ใช้คือ DAR (During Action Review)
- ฉันกำลังทำอะไรอยู่ อยู่ตรงไหนของแผนงาน ช้า-เร็ว เพราะเหตุใด
- ความคาดหวังหรือเป้าหมายเดิมเหมาะสมหรือไม่ ต้องการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร
- ต้องทำอย่างไรให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ
- หลังทำ เรียกว่า "ถอดบทเรียน" เครื่องมือที่ใช้คือ AAR (After Action Review)
- อะไรบ้างที่เราบรรลุตามความคาดหวังหรือเป้าหมายความต้องการ และอะไรที่ได้มากกว่าเกิดคาด
- อะไรที่ไม่บรรลุ เพราะเหตุใด
- หากมีโอกาสได้ทำอีกครั้ง ควรทำอย่างไรให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก
- รู้สึกอย่างไร ประทับใจอะไร ได้พัฒนาจิตใจตนเองอย่างไรบ้างจากงานนี้
อะไรคือสาระอะไรไม่ใช่สาระ
...ในทางพุทธศาสนา เรามีคำถามนำทางการดำเนินชีวิตอยู่ ๓ คำถาม คือ
- อะไรมีสาระ อะไรไม่มีสาระ
- สิ่งที่มีสาระนั้น อะไรที่มีประโยชน์ อะไรที่ไม่มีประโยชน์
- สิ่งที่มีสาระและมีประโยชน์นั้น สิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ....
สิ่งที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ และสมควรทำในการ "ถอดบทเรียน" คือ
- ได้เรียนรู้อะไร จากใคร จากตรงไหน
- อะไรที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดขึ้นตอนไหน เพราะอะไร
- จะเอาความรู้ที่ได้นั้นไปใช้อย่างไรหรือไม่
มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า "ถอดบทเรียน" ที่ดีจะสามารถ "ความรู้ฝึงลึก" (Tacit Knowledge) ในตัวของ "ตนเอง" ออกมาได้ เพื่อเผยแพร่เป็น Explicit knowledge ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป