วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

การถอดบทเรียน

ประสบการณ์ลงพื้นที่ ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาตลอดปีที่ผ่านมา บอกว่า ครูเข้าใจคำว่า "ถอดบทเรียน" ไม่ตรงกับ "นักวิชาการ" ซึ่งความจริง นักวิชาการเองก็เข้าใจไม่ค่อยตรงกัน อย่างไรก็ดี จะเข้าใจอย่างไรนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรา "ถอดบทเรียน" ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หมายถึง ทำให้เกิดการเรียนรู้จริงอย่างมีคุณภาพหรือไม่ ....  จึงใช้บันทึกนี้ เสนอวิธี "ถอดบทเรียน" ที่ผมเองใช้แล้วได้ผลดี เผื่อจะมีคนนำไปทำบ้างครับ ....

ความเข้าใจต่อ "การถอดบทเรียน" ของครู

ผมลองตั้งคำถามกับเวทีครู หลากหลายที่ ว่า "ถอดบทเรียน" คืออะไร มักได้คำตอบดังต่อไปนี้ครับ
  • ถอดบทเรียน คือ การถอดประสบการณ์ 
  • ถอดบทเรียน คือ การสรุปผล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
  • ถอดบทเรียน คือ การสะท้อนประสบการณ์ สะท้อนสิ่งที่ทำ สะท้อนสิ่งที่ได้ สะท้อนความรู้ที่ได้จากประสบการณ์
  • ถอดบทเรียน คือ การ Review ทบทวน 
  • ถอดบทเรียน คือ การถามตนเอง ประเมินตนเอง
  • ฯลฯ 
ความเข้าใจของนักวิชาการ 
 
     ถ้าสืบค้นด้วยคำสัญว่า "ถอดบทเรียน คือ" จะพบว่าเว็บไซต์แนะนำถึง ๑,๔๘๐,๐๐๐ เว็บไซต์ (เว็บแรกคลิกที่นี่ครับ)

ความเข้าใจของผม 

"การถอดบทเรียน" เป็นเครื่องมือหนึ่งของ "การจัดการความรู้" หรือ KM ที่ผมยึดเป็นเครื่องมือในการทำงานทั้งหมด ซึ่งอาจแบ่งหมวดของเครื่องมือ ได้เป็น ๓ ส่วนตามเวลาก่อนหลังของการทำงาน ได้แก่ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ
  • ก่อนทำ  เรียกว่า "วางแผน" เครื่องมือที่ใช้คือ BAR (Before Action Review)
    • คาดหวังหรือต้องการให้มีให้เกิดอะไรในการทำสิ่งนี้
    • ต้องมีความรู้อะไร ต้องมีสิ่งใดบ้าง เพื่อให้งานนี้สำเร็จตามเป้าหมาย
    • ฉันมีบทบาทในงานนั้นอย่างไร ต้องทำอะไร้บ้าง 
    • ปัญหาหรืออุปสรรคใดอาจเกิดขึ้นได้บ้าง หากเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร
  • ระหว่างทำ เรียกว่า "ตรวจสอบ ประเมินตน" เครื่องมือที่ใช้คือ DAR (During Action Review) 
    • ฉันกำลังทำอะไรอยู่ อยู่ตรงไหนของแผนงาน ช้า-เร็ว เพราะเหตุใด 
    • ความคาดหวังหรือเป้าหมายเดิมเหมาะสมหรือไม่ ต้องการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร
    • ต้องทำอย่างไรให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ 
  • หลังทำ เรียกว่า "ถอดบทเรียน" เครื่องมือที่ใช้คือ AAR (After Action Review) 
    • อะไรบ้างที่เราบรรลุตามความคาดหวังหรือเป้าหมายความต้องการ และอะไรที่ได้มากกว่าเกิดคาด
    • อะไรที่ไม่บรรลุ เพราะเหตุใด 
    • หากมีโอกาสได้ทำอีกครั้ง ควรทำอย่างไรให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก
    • รู้สึกอย่างไร ประทับใจอะไร ได้พัฒนาจิตใจตนเองอย่างไรบ้างจากงานนี้ 
ดังนั้น คำว่า "ถอดบทเรียน" จึงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้หลังจากที่เราได้เรียนรู้  ไม่ได้หมายความรวมถึงทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา
อะไรคือสาระอะไรไม่ใช่สาระ
...ในทางพุทธศาสนา เรามีคำถามนำทางการดำเนินชีวิตอยู่ ๓ คำถาม คือ
  • อะไรมีสาระ อะไรไม่มีสาระ
  • สิ่งที่มีสาระนั้น อะไรที่มีประโยชน์ อะไรที่ไม่มีประโยชน์
  • สิ่งที่มีสาระและมีประโยชน์นั้น สิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ....
ผมคิดว่ความหมายหรือนิยามของคำว่า "ถอดบทเรียน" ไม่ใช่สาระ แต่สิ่งที่เป็นสาระคือ เป้าหมายของการ "ถอดบทเรียน"  หลังจากที่ผมเขียนบันทึกนี้ ท่านอาจารย์ JJ เข้ามา แสดงความเห็นที่มีคุณค่ามากว่า สิ่งสำคัญของการ "ถอดบทเรียน" คือ ทบทวนว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรหลังการเรียนรู้นั้น หรือ ALR (After Learning Review)  ผมประทับใจมาก เลยกลับมาบันทึกขยายความต่อในความเข้าใจของตน ดังนี้ว่า
สิ่งที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ และสมควรทำในการ "ถอดบทเรียน" คือ
  • ได้เรียนรู้อะไร จากใคร จากตรงไหน
  • อะไรที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดขึ้นตอนไหน เพราะอะไร 
  • จะเอาความรู้ที่ได้นั้นไปใช้อย่างไรหรือไม่
โดยต้องพิจารณาให้ครบทั้ง มิติของ กาย (การกระทำ) วาจา (มิติของการทำงานเป็นทีม) และ ใจ (มิติของตนเอง)
มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า "ถอดบทเรียน" ที่ดีจะสามารถ "ความรู้ฝึงลึก" (Tacit Knowledge) ในตัวของ "ตนเอง" ออกมาได้ เพื่อเผยแพร่เป็น Explicit knowledge ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น