วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

องค์ประกอบและปัจจัยของการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

วันที่ ๑-๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมเข้าร่วมเวที "สร้างคนเพื่อสร้างพลังบูรณาการปฏิรูปต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม" ที่โรงแรมนาข่าบุรีรีสอร์ท กับ "ครูบาอาจารย์" ที่ผมนับถือยิ่งคือ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์  มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งหมด ๒๓ ท่านในวันแรกที่ผมไปถึงและเพิ่มเป็น ๒๙ ในวันถัดมา   ผมรู้สึกว่า "ใจตนเอง" ได้ยกระดับความรู้ความเข้าใจและจิตวิญญาณขึ้นในระยะเวลาเพียงข้ามวัน จึงอยากจะนำมาแบ่งปัน เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับท่านที่ได้อ่านบันทึกนี้




ผมได้เรียนรู้ว่า
  • ถ้า ผมจะไปจัดเวทีขับเคลื่อนใดๆ ต่อไปนี้ ต้องคำนึงถึง "บรรยากาศ" นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ พอๆ กับคุณภาพของ "คน" ที่เข้าร่วมเวที ผมตีความคำว่า "บรรยากาศ" คือสิ่งที่ทำให้ "ผ่อนคลาย" คือความ "เบาสบายของใจ" หรือ "ใจเบา" ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า "ใจหนัก" หรือ "หนักใจ"  สาเหตุเพราะไม่วางอะไรๆ ที่อยู่ในใจ ไม่ว่าเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่นใด... การสร้าง "บรรยากาศ" โดยการ "น้อมใจ" เปิดใจให้กับ "ธรรมชาติ" ความเบาไหวของลม ความอบอุ่นและสว่างโล่งของแสงแดด ความชุ่มชื้นชื่นเย็นของน้ำ และสีเขียวสดใสของใบไม้ปลายหญ้า จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง "ภายนอก" กับ "ภายใน" ทำให้ความเป็น "ปกติ" ของ "ธรรมชาติ" ซึมแพร่เข้ามาสู่ใจ นำไปสู่ความ "ผ่อนคลาย" อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้
  • ในทางตรงกันข้าม "คน" สามารถทำลาย "บรรยากาศ" ได้อย่าง "ละเอียด" และคาดไม่ถึงโดย "คน" นั้นๆ ด้วยซ้ำ  ...วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมพาลูกสาวไปฟังธรรมะหลวงปู่อินทร์ กตปุญโญ ที่บริษัทโมริน่า มีช่วงหนึ่งท่านเทศน์ว่า "...รู้ไหมว่า ทำไมหลวงปู่ไม่ให้นั่งสมาธินานนักในวันนี้ ทำไมต้องนั่งแค่ ๕ นาที ๑๐ นาที บางคนตั้งใจ มีศรัทธา สงบดี แต่บางคนอาจคิดว่า เมื่อไหร่จะหยุด ปวดขา ไม่ไหวแล้ว บางคนก็หว้าวุ่น... จิตใจส่งผลต่อจิตของคนอื่น รบกวนกัน.... ผมตีความว่า สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์กำลังจะสื่อสารกับเรา เป็นประเด็นเดียวกับที่หลวงปู่อินทร์สื่อสารกับผู้ไปฟังธรรมะในวันนั้น ....  สรุปว่า สภาวะจิตใจของ "คน" ส่งผลต่อ "บรรยากาศ" ของ "วง" นั่นเอง 
  • ผมตีความและเข้าใจเอาเองว่า...  "วงสนทนา" หรือ "ปฏิสัมพันธ์" กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ เป็นเพียง "จุดกระตุ้น" ของการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นตลอดเวลาที่เรามี "สติ" และ "สมาธิ" และเกิดขึ้นตลอดชีวิต จะเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามอย่างไรขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อ" ความเข้าใจ" ที่ถูกต้อง หรือความเห็นถูก "สัมมาทิฐิ" ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อ "ท่าที" หรือ "เจตคติ" ที่ถูกต้อง และนำมาสู่การกระทำที่ถูกต้องต่อไป โดยคุณภาพของของการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับ ๓ องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความเชื่อ สติ/ระลึกรู้ และทักษะความสามารถในการเรียนรู้ (ฟัง คิด ทำ) 
  • ผมเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ชัยวัฒน์ มาต่อยอดนิดหน่อยเพื่อให้สอดคล้องกับประสบการณ์ในการทำงานขับเคลื่อน PLC (Professional Learning Community) หรือชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ที่กำลัง "ตะลุย" อยู่ในพื้นที่ เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับครูต่อไป ได้ดังรูปด้านล่าง โดยเพิ่มเติมเงื่อนไข ที่เป็นปัจจัยของความสำเร็จ ๔ ประการ ซึ่งสกัดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ได้แก่ ๑) ความเอาใจใส่ในรายละเอียด สอดคล้องกับคุณภาพของใจในการเรียนรู้ นั่นคือสติและสมาธินั่นเอง ๒) ความต่อเนื่อง ทุกโครงการที่ทำมา ผมพบว่า "ความต่อเนื่อง" คือสิ่งที่จะขาดไม่ได้ ๓) การ "บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน" เป็นอีกปัจจัยที่ขยายคำว่า "ต่อเนื่อง" ให้ชัดขึ้นถึงขั้น "ปฏิบัติ" และ ๔) การสะท้อนกลับและการป้อนกลับ (feedback) ซึ่งสิ่งนี้ขาดมากที่สุดสำหรับคนไทย ครูไทย แม้ว่าจะบอกว่าส่งเสริมการทำ "วิจัย" อย่างหนัก 

  •  อาจารย์ชัยวัฒน์ ท่านเรียกโครงการที่ทำแล้วได้ผลจริง ทำให้คนเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ว่า "Good Project"... ผมตีความว่า การทำงานให้ได้ทั้งประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน ในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้ภายในเพื่อยกระดับจิตวิญญาณนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการ มองอย่างองค์รวมและทำอย่างบูรณาการ โดยมี "ความเห็น" และ "ความเชื่อ" ว่า ทุกสิ่งที่เรากระทำ จะส่งไปต่อทั้งคนอื่นและต่อเราเอง เหมือนๆ กับเราเรียก "กฎของกรรม" กรรมใดๆ เกิดแต่ "เหตุ" เมื่อเราทำ "เหตุ" ย่อมมี "กรรม" เป็นผลตามมาเสมอ ด้วยเหตุนี้ทำให้ "คน" เชื่อมโยงกันและกัน เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เชื่อมโยงกันแบบแยกไม่ออก...ฟังดูเหมือนความคิด (ปรัชญา) เกินไป แต่เมื่อท่านให้แบ่งกลุ่มวาดภาพแห่ง "เจตจำนงค์" ของกลุ่ม แล้วให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ ดังภาพด้านล่าง ผมเจอตัวอย่างของสิ่งที่ท่านพูด .... คนกลุ่มนี้ทำเรื่องเดียวกัน.... จึงได้มาเจอกันในงานนี้ .... 

"ธรรมะแห่งพลังศรัทธา" ธรรมะ หมายถึง "ธรรมชาติ" ธรรมชาติของใจที่เชื่อมั่น มั่นคง แข็งแกร่ง ร่วมมือ และศรัทธา จะมาสู่ "พลัง" และ "อิสระ" ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน 
 แม้จะมีบ้างที่ยัง "มืดบอด" และ "เห็นผิด" "คน" ทุกคนล้นมีแสงสว่างภายในตนเอง หากมีการ "รวมพล" แสงเทียนในใจแต่ละคน จะนำสู่แสงสว่าง ส่องให้โลก สดใส จากภายใน อย่างยั่งยืน 


ในการรวมพล รวมคน นั้น เราต้องมี "วงสนทนาที่เกิดปัญญษและความสุข" 

เมื่อรวมพลของคนแต่ละกลุ่ม ทั้งด้านการศึกษา ประชาสังคม (การเมืองภาคประชาชน) สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรม ความร่วมมือทุกภาคส่วนข้างต้น จำนำให้การ "รวมพล" ส่งผลต่อสังคมแห่งความสุข ความดีงาม และการอยู่เย็นเป็นสุข
ต่างคนต่างเปลี่ยนตนเอง ต่างกลุ่มต่างเปลี่ยนตนเอง เมื่อเปลี่ยนตนเองได้ โลกก็จะเปลี่ยนไป
แม้ว่าจะต้องจากลูกและภรรยามาหนึ่งคืน ผมบอกพวกเขาว่าคุ้มค่ามากที่ได้มาเรียนรู้กับท่านในวันนี้ "...พ่อจะพัฒนาตนเอง ให้ทำความดีได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด..." เพื่อที่นำมา "ถ่ายทอด และฝึกฝนให้ลูกต่อไป"...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น