ผมจำได้ว่าครูเพ็ญศรี พูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว เข้าใจว่า น่าจะเป็นวิธีที่ท่านนำมาใช้กับนักเรียนที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมแล้วได้ผลดี คือ สามารถทำให้นักเรียนพัฒนาการคิดวิเคราะห์และมีทักษะ ๓ ประการ อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ผ่านโครงงานบนฐานชีวิตจริง ได้แก่
- วิเคราะห์ปัญหา กำหนดปัญหา และระดมสมองหาวิธีแก้ปัญหาเป็นทีมได้
- เขียนหลักการและเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงงาน และเขียนเค้าร่างโครงงานได้
- "ถอดบทเรียน" สื่อสาร ถ่ายทอด และนำเสนองานของกลุ่มตน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นด้วยวิธีหรือช่องทางต่างๆ ได้
แนะนำให้ท่านอ่านบันทึกเรื่อง "ต้น PBL" ก่อนจะอ่านต่อไป จะทำให้ท่านเข้าใจได้ทันที และเชื่อมโยงนำไปใช้ต่อได้ง่ายและเป็นระบบขึ้น
วิธีนี้เริ่มจาก "สร้างแรงบันดาลใจ" ให้นักเรียน (หรือกลุ่มเป้าหมาย) แต่ละคนคิดถึง "ตนเอง->บ้านตนเอง-> โรงเรียน->และชุมชนของตนเอง" ว่า ตอนนี้มีความสุขหรือความทุกข์ พอใจหรือพอเพียงใจหรือยัง มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากจะทำให้ดีกว่านี้ต้องมีสิ่งใดอีก ฯลฯ แล้วแบ่งกลุ่ม (แนะนำกลุ่มละ ๔-๕ คน) วิเคราะห์ อธิบาย อภิปรายปัญหาของตนและคนอื่นในกลุ่ม ก่อนจะร่วมกัน "กำหนดปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย" ต่อทุกคนในกลุ่ม ผมขอเสนอให้พิจารณาว่า เป็น "ปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย" หรือไม่ ดังนี้
- เป็นปัญหาที่สมาชิกของกลุ่มมี "ฉันทามติ" ร่วมกัน คือ ชอบ รัก มุ่งมั่นที่จะ "ลุย" ร่วมกัน...ไม่ใช่ทำไปเพื่อคะแนน
- เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือทำร่วมกันจริงๆ นักเรียนจะได้สัมผัสจริง ได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้หรือฝึกฝนมาในโรงเรียนไปใช้แก้ปัญหา
- เป็นปัญหาในชีวิตจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางตรงหรือทางอ้อม ที่มีความท้าทาย ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป ต้องใช้สมาธิกับการศึกษาและแก้ปัญหาเป็นเวลานาน
- เป็นปัญหาที่เมื่อแก้แล้วจะเป็นประโยชน์เพื่อคนอื่น เช่น ปัญหาส่วนรวม ปัญหาชุมชน ปัญหาสังคม ฯลฯ ... ธรรมชาติของคนจะมีความสุขจากการให้ ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่หากแก้ไขได้จะนำความภูมิใจมาให้มาก
- ฯลฯ....
วิเคราะห์ปัญหา (พัฒนาโจทย์)
แล้วให้แต่ละกลุ่มระดมปัญหาโดยใช้ "ต้น PBL ยืนต้นตาย" โดยแยกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) ปัญหาหรือสถานการณ์ ๒) ผลกระทบด้านลบ และ ๓) สาเหตุของปัญหา และเน้นความเชื่อมโยงแบบ "อิทัปปัจจยตา" คือพิจารณาว่า สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เป็นลำดับหรือระดับชั้นไปเรื่อยๆ
ระดมสมองหาวิธีแก้ไข (ร่างเค้าโครงงาน (วิจัย))
เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาชัดเจน ควรพิจารณาแยกหมวดหมู่สาเหตุปัญหาเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) สาเหตุปัญหาที่เรียกว่า "ข้อจำกัด" คือเราแก้ไขไม่ได้ ๒) สาเหตุปัญหาที่เราแก้ไขได้ และ ๓) สาเหตุปัญหาที่เราอาจแก้ได้ถ้าได้รับความร่วมมือหรือช่วยเหลือจากใครเพิ่ม แล้วเลือกสาเหตุของปัญหาในกลุ่มที่ ๒) หรือ ๓) มาพิจารณา "เปลี่ยนเป็นเป้าหมาย/วัตถุประสงค์" ลงใน "ต้น PBL" โดยให้รากเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา ส่วน "กิ่ง ก้าน ใบ" ให้เป็นผลกระทบด้านดีที่จะได้หรือตามมา ส่วน "กิ่งตาย" ให้เป็น "ผลร้าย" ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความรอบคอบ ระมัดระวังในการดำเนินการ (ตามหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง) ดังรูป
อย่าลืม "ถอดบทเรียน" ว่าทำแล้วได้ "ผล" (มะม่วง) ที่เปรียบเป็นทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยนะครับ เพราะนั่นคือ "เป้าหมายที่แท้จริง" ของ PBL
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น