วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

องค์ประกอบและปัจจัยของการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

วันที่ ๑-๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมเข้าร่วมเวที "สร้างคนเพื่อสร้างพลังบูรณาการปฏิรูปต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม" ที่โรงแรมนาข่าบุรีรีสอร์ท กับ "ครูบาอาจารย์" ที่ผมนับถือยิ่งคือ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์  มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งหมด ๒๓ ท่านในวันแรกที่ผมไปถึงและเพิ่มเป็น ๒๙ ในวันถัดมา   ผมรู้สึกว่า "ใจตนเอง" ได้ยกระดับความรู้ความเข้าใจและจิตวิญญาณขึ้นในระยะเวลาเพียงข้ามวัน จึงอยากจะนำมาแบ่งปัน เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับท่านที่ได้อ่านบันทึกนี้




ผมได้เรียนรู้ว่า
  • ถ้า ผมจะไปจัดเวทีขับเคลื่อนใดๆ ต่อไปนี้ ต้องคำนึงถึง "บรรยากาศ" นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ พอๆ กับคุณภาพของ "คน" ที่เข้าร่วมเวที ผมตีความคำว่า "บรรยากาศ" คือสิ่งที่ทำให้ "ผ่อนคลาย" คือความ "เบาสบายของใจ" หรือ "ใจเบา" ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า "ใจหนัก" หรือ "หนักใจ"  สาเหตุเพราะไม่วางอะไรๆ ที่อยู่ในใจ ไม่ว่าเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอื่นใด... การสร้าง "บรรยากาศ" โดยการ "น้อมใจ" เปิดใจให้กับ "ธรรมชาติ" ความเบาไหวของลม ความอบอุ่นและสว่างโล่งของแสงแดด ความชุ่มชื้นชื่นเย็นของน้ำ และสีเขียวสดใสของใบไม้ปลายหญ้า จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง "ภายนอก" กับ "ภายใน" ทำให้ความเป็น "ปกติ" ของ "ธรรมชาติ" ซึมแพร่เข้ามาสู่ใจ นำไปสู่ความ "ผ่อนคลาย" อันเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้
  • ในทางตรงกันข้าม "คน" สามารถทำลาย "บรรยากาศ" ได้อย่าง "ละเอียด" และคาดไม่ถึงโดย "คน" นั้นๆ ด้วยซ้ำ  ...วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมพาลูกสาวไปฟังธรรมะหลวงปู่อินทร์ กตปุญโญ ที่บริษัทโมริน่า มีช่วงหนึ่งท่านเทศน์ว่า "...รู้ไหมว่า ทำไมหลวงปู่ไม่ให้นั่งสมาธินานนักในวันนี้ ทำไมต้องนั่งแค่ ๕ นาที ๑๐ นาที บางคนตั้งใจ มีศรัทธา สงบดี แต่บางคนอาจคิดว่า เมื่อไหร่จะหยุด ปวดขา ไม่ไหวแล้ว บางคนก็หว้าวุ่น... จิตใจส่งผลต่อจิตของคนอื่น รบกวนกัน.... ผมตีความว่า สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์กำลังจะสื่อสารกับเรา เป็นประเด็นเดียวกับที่หลวงปู่อินทร์สื่อสารกับผู้ไปฟังธรรมะในวันนั้น ....  สรุปว่า สภาวะจิตใจของ "คน" ส่งผลต่อ "บรรยากาศ" ของ "วง" นั่นเอง 
  • ผมตีความและเข้าใจเอาเองว่า...  "วงสนทนา" หรือ "ปฏิสัมพันธ์" กับคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆ เป็นเพียง "จุดกระตุ้น" ของการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นตลอดเวลาที่เรามี "สติ" และ "สมาธิ" และเกิดขึ้นตลอดชีวิต จะเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามอย่างไรขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อ" ความเข้าใจ" ที่ถูกต้อง หรือความเห็นถูก "สัมมาทิฐิ" ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อ "ท่าที" หรือ "เจตคติ" ที่ถูกต้อง และนำมาสู่การกระทำที่ถูกต้องต่อไป โดยคุณภาพของของการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับ ๓ องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความเชื่อ สติ/ระลึกรู้ และทักษะความสามารถในการเรียนรู้ (ฟัง คิด ทำ) 
  • ผมเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ชัยวัฒน์ มาต่อยอดนิดหน่อยเพื่อให้สอดคล้องกับประสบการณ์ในการทำงานขับเคลื่อน PLC (Professional Learning Community) หรือชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ ที่กำลัง "ตะลุย" อยู่ในพื้นที่ เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับครูต่อไป ได้ดังรูปด้านล่าง โดยเพิ่มเติมเงื่อนไข ที่เป็นปัจจัยของความสำเร็จ ๔ ประการ ซึ่งสกัดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ได้แก่ ๑) ความเอาใจใส่ในรายละเอียด สอดคล้องกับคุณภาพของใจในการเรียนรู้ นั่นคือสติและสมาธินั่นเอง ๒) ความต่อเนื่อง ทุกโครงการที่ทำมา ผมพบว่า "ความต่อเนื่อง" คือสิ่งที่จะขาดไม่ได้ ๓) การ "บ่อย ซ้ำ ย้ำ ทวน" เป็นอีกปัจจัยที่ขยายคำว่า "ต่อเนื่อง" ให้ชัดขึ้นถึงขั้น "ปฏิบัติ" และ ๔) การสะท้อนกลับและการป้อนกลับ (feedback) ซึ่งสิ่งนี้ขาดมากที่สุดสำหรับคนไทย ครูไทย แม้ว่าจะบอกว่าส่งเสริมการทำ "วิจัย" อย่างหนัก 

  •  อาจารย์ชัยวัฒน์ ท่านเรียกโครงการที่ทำแล้วได้ผลจริง ทำให้คนเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ว่า "Good Project"... ผมตีความว่า การทำงานให้ได้ทั้งประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน ในที่นี้หมายถึงการเรียนรู้ภายในเพื่อยกระดับจิตวิญญาณนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการ มองอย่างองค์รวมและทำอย่างบูรณาการ โดยมี "ความเห็น" และ "ความเชื่อ" ว่า ทุกสิ่งที่เรากระทำ จะส่งไปต่อทั้งคนอื่นและต่อเราเอง เหมือนๆ กับเราเรียก "กฎของกรรม" กรรมใดๆ เกิดแต่ "เหตุ" เมื่อเราทำ "เหตุ" ย่อมมี "กรรม" เป็นผลตามมาเสมอ ด้วยเหตุนี้ทำให้ "คน" เชื่อมโยงกันและกัน เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เชื่อมโยงกันแบบแยกไม่ออก...ฟังดูเหมือนความคิด (ปรัชญา) เกินไป แต่เมื่อท่านให้แบ่งกลุ่มวาดภาพแห่ง "เจตจำนงค์" ของกลุ่ม แล้วให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ ดังภาพด้านล่าง ผมเจอตัวอย่างของสิ่งที่ท่านพูด .... คนกลุ่มนี้ทำเรื่องเดียวกัน.... จึงได้มาเจอกันในงานนี้ .... 

"ธรรมะแห่งพลังศรัทธา" ธรรมะ หมายถึง "ธรรมชาติ" ธรรมชาติของใจที่เชื่อมั่น มั่นคง แข็งแกร่ง ร่วมมือ และศรัทธา จะมาสู่ "พลัง" และ "อิสระ" ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน 
 แม้จะมีบ้างที่ยัง "มืดบอด" และ "เห็นผิด" "คน" ทุกคนล้นมีแสงสว่างภายในตนเอง หากมีการ "รวมพล" แสงเทียนในใจแต่ละคน จะนำสู่แสงสว่าง ส่องให้โลก สดใส จากภายใน อย่างยั่งยืน 


ในการรวมพล รวมคน นั้น เราต้องมี "วงสนทนาที่เกิดปัญญษและความสุข" 

เมื่อรวมพลของคนแต่ละกลุ่ม ทั้งด้านการศึกษา ประชาสังคม (การเมืองภาคประชาชน) สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรม ความร่วมมือทุกภาคส่วนข้างต้น จำนำให้การ "รวมพล" ส่งผลต่อสังคมแห่งความสุข ความดีงาม และการอยู่เย็นเป็นสุข
ต่างคนต่างเปลี่ยนตนเอง ต่างกลุ่มต่างเปลี่ยนตนเอง เมื่อเปลี่ยนตนเองได้ โลกก็จะเปลี่ยนไป
แม้ว่าจะต้องจากลูกและภรรยามาหนึ่งคืน ผมบอกพวกเขาว่าคุ้มค่ามากที่ได้มาเรียนรู้กับท่านในวันนี้ "...พ่อจะพัฒนาตนเอง ให้ทำความดีได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด..." เพื่อที่นำมา "ถ่ายทอด และฝึกฝนให้ลูกต่อไป"...

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปลูก "ต้น PBL" เริ่มแบบนี้ (วิธีของครูเพ็ญศรี ใจกล้า)

ผมมีได้แรงบันดาลใจที่จะเขียนบันทึกนี้หลังจากอ่านบันทึกของครูเพ็ญศรี ใจกล้า เรื่อง "PBL: กระบวนการละคร" (อ่านได้ที่นี่) โดยไม่ได้คิดอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่วาดรูปใหม่ และบันทึกไว้ตรงนี้เพื่อเผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือในการใช้ แผนผังต้นมะม่วง Mango Mind Mapping (3M)) นี้ ในการทำ PLC ต่อไป

ผมจำได้ว่าครูเพ็ญศรี พูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว เข้าใจว่า น่าจะเป็นวิธีที่ท่านนำมาใช้กับนักเรียนที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมแล้วได้ผลดี คือ สามารถทำให้นักเรียนพัฒนาการคิดวิเคราะห์และมีทักษะ ๓ ประการ อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ผ่านโครงงานบนฐานชีวิตจริง ได้แก่
  • วิเคราะห์ปัญหา กำหนดปัญหา และระดมสมองหาวิธีแก้ปัญหาเป็นทีมได้
  • เขียนหลักการและเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงงาน และเขียนเค้าร่างโครงงานได้
  • "ถอดบทเรียน" สื่อสาร ถ่ายทอด และนำเสนองานของกลุ่มตน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นด้วยวิธีหรือช่องทางต่างๆ ได้ 
และ ผมเข้าใจว่า ครูเพ็ญศรี และนักเรียนกลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" ได้เรียนรู้วิธีการนี้มานานแล้วเมื่อครั้งไปร่วมฝึกอบรมในโครงการ "ปลูกใจรักษ์โลก" ของ "กองทุนไทย" ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล (ผิดถูกอย่างไรให้ท่านมาโพสท์อธิบายนะครับ) และผมตีความว่า เทคนิคนี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จประการหนึ่งของทีม "ฮักนะเชียงยืน"

แนะนำให้ท่านอ่านบันทึกเรื่อง "ต้น PBL" ก่อนจะอ่านต่อไป จะทำให้ท่านเข้าใจได้ทันที และเชื่อมโยงนำไปใช้ต่อได้ง่ายและเป็นระบบขึ้น

วิธีนี้เริ่มจาก "สร้างแรงบันดาลใจ" ให้นักเรียน (หรือกลุ่มเป้าหมาย) แต่ละคนคิดถึง "ตนเอง->บ้านตนเอง-> โรงเรียน->และชุมชนของตนเอง" ว่า ตอนนี้มีความสุขหรือความทุกข์ พอใจหรือพอเพียงใจหรือยัง มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากจะทำให้ดีกว่านี้ต้องมีสิ่งใดอีก ฯลฯ  แล้วแบ่งกลุ่ม (แนะนำกลุ่มละ ๔-๕ คน) วิเคราะห์ อธิบาย อภิปรายปัญหาของตนและคนอื่นในกลุ่ม ก่อนจะร่วมกัน "กำหนดปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย" ต่อทุกคนในกลุ่ม ผมขอเสนอให้พิจารณาว่า เป็น "ปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย" หรือไม่ ดังนี้
  • เป็นปัญหาที่สมาชิกของกลุ่มมี "ฉันทามติ" ร่วมกัน คือ ชอบ รัก มุ่งมั่นที่จะ "ลุย" ร่วมกัน...ไม่ใช่ทำไปเพื่อคะแนน
  • เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือทำร่วมกันจริงๆ นักเรียนจะได้สัมผัสจริง ได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้หรือฝึกฝนมาในโรงเรียนไปใช้แก้ปัญหา
  • เป็นปัญหาในชีวิตจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางตรงหรือทางอ้อม ที่มีความท้าทาย ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป ต้องใช้สมาธิกับการศึกษาและแก้ปัญหาเป็นเวลานาน
  • เป็นปัญหาที่เมื่อแก้แล้วจะเป็นประโยชน์เพื่อคนอื่น เช่น ปัญหาส่วนรวม ปัญหาชุมชน ปัญหาสังคม ฯลฯ  ...  ธรรมชาติของคนจะมีความสุขจากการให้ ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่หากแก้ไขได้จะนำความภูมิใจมาให้มาก
  • ฯลฯ.... 
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ควรมีการกำหนดตายตัว หัวใจสำคัญคือ ให้นักเรียนเป็นคนกำหนดปัญหาเอง

วิเคราะห์ปัญหา (พัฒนาโจทย์)

แล้วให้แต่ละกลุ่มระดมปัญหาโดยใช้ "ต้น PBL ยืนต้นตาย" โดยแยกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) ปัญหาหรือสถานการณ์ ๒) ผลกระทบด้านลบ และ ๓) สาเหตุของปัญหา  และเน้นความเชื่อมโยงแบบ "อิทัปปัจจยตา" คือพิจารณาว่า สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เป็นลำดับหรือระดับชั้นไปเรื่อยๆ





ระดมสมองหาวิธีแก้ไข (ร่างเค้าโครงงาน (วิจัย))

เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาชัดเจน ควรพิจารณาแยกหมวดหมู่สาเหตุปัญหาเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) สาเหตุปัญหาที่เรียกว่า "ข้อจำกัด" คือเราแก้ไขไม่ได้ ๒) สาเหตุปัญหาที่เราแก้ไขได้ และ ๓) สาเหตุปัญหาที่เราอาจแก้ได้ถ้าได้รับความร่วมมือหรือช่วยเหลือจากใครเพิ่ม  แล้วเลือกสาเหตุของปัญหาในกลุ่มที่ ๒) หรือ ๓) มาพิจารณา "เปลี่ยนเป็นเป้าหมาย/วัตถุประสงค์" ลงใน "ต้น PBL" โดยให้รากเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา ส่วน "กิ่ง ก้าน ใบ" ให้เป็นผลกระทบด้านดีที่จะได้หรือตามมา ส่วน "กิ่งตาย" ให้เป็น "ผลร้าย" ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความรอบคอบ ระมัดระวังในการดำเนินการ (ตามหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง) ดังรูป




อย่าลืม "ถอดบทเรียน" ว่าทำแล้วได้ "ผล" (มะม่วง) ที่เปรียบเป็นทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยนะครับ เพราะนั่นคือ "เป้าหมายที่แท้จริง" ของ PBL

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

กิจกรรม "ส่งสารผ่านสัมผัส หัดเรียนรู้จิต แยกการคิดกับการรู้สึก"

ผมคิดกิจกรรมนี้และใช้หลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้แยกออกมาเขียนไว้ในสมุดเครื่องมือจัดการความรู้ ที่ผ่านมาได้ผลดีพอควร จึงเห็นว่าสมควรจะนำมาแบ่งปันให้ท่านผู้สนใจลองไปทำดูบ้าง...

เป้าหมายของกิจกรรม

เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ธรรมชาติของ "จิต" ในการ "คิด" และ "รับรู้" ว่า "เมื่อคิดจะไม่รู้สึก เมื่อรู้สึกจะไม่ได้คิด สองอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน

วัสดุอุปกรณ์

ไม่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ใดๆ ทั้งนั้นครับ  กิจกรรมนี้จะใช้กับกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน ๑๐๐ คน มากกว่านี้ต้องปรับวิธีการ

วิธีการดำเนินกิจกรรม 

  • ให้ทุกคนล้อมเป็นวงกลม แต่ละคนใช้มือซ้ายจับมือขวาของเพื่อน ล้อมเป็นคอกวงกลม 
  • กระบวนกรให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง "จิต"  ธรรมชาติของ "ใจ" โดยเน้นตัวอย่างใกล้ตัว หรือเรื่องที่คุ้นเคยเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ดึงแขนกลุ่มเป้าหมายคนหนึ่งออกจากวงมา เรียกว่า "ผู้ส่งสาร" พร้อมกับแจ้งว่า จะมอบสัญญาณบางประการให้ผู้ส่งสาร ส่งผ่านไปยังคนซ้ายมือของเขา คนที่ได้รับสาร รับมาอย่างไร ให้ส่งสารนั้นต่อไปยังคนซ้ายมือของตน ไปเรื่อยๆ ถ้าสำเร็จ สัญญาณจะส่งผ่านมายังมือขวาของ "ผู้ส่งสาร" เมื่อตอนนั้นมาถึง ให้ "ผู้ส่งสาร" บอกว่า ได้รับสารแล้ว เป็นอันหยุด
  • ก่อนจะตกลงกับ "ผู้ส่งสาร" ว่า "สาร" นั้นคืออะไร ให้ขอให้ทุกคนหลับตาลง  สารที่มอบไปอาจเป็นอะไรก็ได้ที่สื่อได้จากการสัมผัส ผมมักใช้เริ่มต้นด้วยการ "บีบมือ" 
  • ระหว่างที่ "ส่งสาร" กระบวนกรจะสังเกตเห็นว่าสัญญาณนั้นไปถึงไหน หายไปหรือไม่ หรือแม้แต่สัญญาณเปลี่ยนไปอย่างไร  ถ้าไม่สำเร็จในรอบแรก ให้พูดกระตุ้นให้ทุกคนตั้งใจมากขึ้น โดยการท้าทายด้วยตัวอย่าง ความสำเร็จของ "วง" อื่นๆ ที่เราเคยทำมา ในเวลาที่จำกัด  แต่อย่าเพิ่งบอกว่าต้องใช้เทคนิคอะไร หรือต้องใช้คุณธรรมข้อใด
  • เมื่อทำสัญญาณแรกได้สำเร็จ ให้บอกว่าเป็นเพียง "วอร์มอัพ" ของจริงคือสัญญาณในรอบถัดไป ซึ่งให้ใช้สัญญาณที่ประกอบด้วย ๓ สัมผัส เช่นเดียวกับสัญญาณแรก กระบวนกรจะใช้สัญญาณอะไรก็ได้ ที่ผมมักใช้คือการ "บีบมือ ๓ ระดับน้ำหนัก" 
  • เมื่อส่งสารสำเร็จ ให้เริ่มสุ่มถามจากคนสุดท้าย (คนแรกทางขวามือของ ผู้ส่งสาร) ย้อนกลับไปเรื่อย โดยถามว่า "สัญญาณ" คืออะไร ... จากประสบการณ์ สัญญาณจะเปลี่ยนไปมาเรื่อยๆ  สนุกสนานทีเดียว...
  • จบด้วยการสะท้อนว่า "ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้"  วิธีที่ดีและได้ผลมากคือ ให้ถามว่า "ถ้าหากว่าท่านเป็นผม (กระบวนกร) ท่านจะสรุปว่ากิจกรรมนี้สอนอะไรบ้าง" 
สรุปด้วยการตั้งคำถาม
  • ทำไมเราจึงทำสำเร็จ ......   สิ่งที่ตอบมาทั้งหมดนั้น อาจเป็นคุณธรรม วิธีการ หรือเทคนิค ล้วนแล้วแต่ "คิด" จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ..... ลองถามว่าใครรู้ว่ากำลังคิดไหม...
  • เรารู้เมื่อไหร่ว่า "สัญญาณ" มาถึง .... เมื่อเรา "รู้สึก" หรือ "เมื่อเราคิด" ขณะที่ "รู้สึก" ต้องใช้"ความคิด"หรือไม่ .... ถ้ายังมีคำตอบที่หลากหลายแตกต่างๆ แสดงว่า กลุ่มเป้าหมายยังใช้ "ความคิด" อยู่มาก ... ไม่ต้องอธิบายมาก เพียงทิ้งไว้ให้ไปลองสังเกตเอง 
  • ตั้งคำถามว่า "อะไรทำหน้าที่ "รู้" และอะไรทำหน้าที่ "คิด" และอะไรคือ "จิต" และฝากให้ไปเรียนรู้จิตใจตนเองต่อไป 

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

การถอดบทเรียน

ประสบการณ์ลงพื้นที่ ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาตลอดปีที่ผ่านมา บอกว่า ครูเข้าใจคำว่า "ถอดบทเรียน" ไม่ตรงกับ "นักวิชาการ" ซึ่งความจริง นักวิชาการเองก็เข้าใจไม่ค่อยตรงกัน อย่างไรก็ดี จะเข้าใจอย่างไรนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรา "ถอดบทเรียน" ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หมายถึง ทำให้เกิดการเรียนรู้จริงอย่างมีคุณภาพหรือไม่ ....  จึงใช้บันทึกนี้ เสนอวิธี "ถอดบทเรียน" ที่ผมเองใช้แล้วได้ผลดี เผื่อจะมีคนนำไปทำบ้างครับ ....

ความเข้าใจต่อ "การถอดบทเรียน" ของครู

ผมลองตั้งคำถามกับเวทีครู หลากหลายที่ ว่า "ถอดบทเรียน" คืออะไร มักได้คำตอบดังต่อไปนี้ครับ
  • ถอดบทเรียน คือ การถอดประสบการณ์ 
  • ถอดบทเรียน คือ การสรุปผล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
  • ถอดบทเรียน คือ การสะท้อนประสบการณ์ สะท้อนสิ่งที่ทำ สะท้อนสิ่งที่ได้ สะท้อนความรู้ที่ได้จากประสบการณ์
  • ถอดบทเรียน คือ การ Review ทบทวน 
  • ถอดบทเรียน คือ การถามตนเอง ประเมินตนเอง
  • ฯลฯ 
ความเข้าใจของนักวิชาการ 
 
     ถ้าสืบค้นด้วยคำสัญว่า "ถอดบทเรียน คือ" จะพบว่าเว็บไซต์แนะนำถึง ๑,๔๘๐,๐๐๐ เว็บไซต์ (เว็บแรกคลิกที่นี่ครับ)

ความเข้าใจของผม 

"การถอดบทเรียน" เป็นเครื่องมือหนึ่งของ "การจัดการความรู้" หรือ KM ที่ผมยึดเป็นเครื่องมือในการทำงานทั้งหมด ซึ่งอาจแบ่งหมวดของเครื่องมือ ได้เป็น ๓ ส่วนตามเวลาก่อนหลังของการทำงาน ได้แก่ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ
  • ก่อนทำ  เรียกว่า "วางแผน" เครื่องมือที่ใช้คือ BAR (Before Action Review)
    • คาดหวังหรือต้องการให้มีให้เกิดอะไรในการทำสิ่งนี้
    • ต้องมีความรู้อะไร ต้องมีสิ่งใดบ้าง เพื่อให้งานนี้สำเร็จตามเป้าหมาย
    • ฉันมีบทบาทในงานนั้นอย่างไร ต้องทำอะไร้บ้าง 
    • ปัญหาหรืออุปสรรคใดอาจเกิดขึ้นได้บ้าง หากเกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร
  • ระหว่างทำ เรียกว่า "ตรวจสอบ ประเมินตน" เครื่องมือที่ใช้คือ DAR (During Action Review) 
    • ฉันกำลังทำอะไรอยู่ อยู่ตรงไหนของแผนงาน ช้า-เร็ว เพราะเหตุใด 
    • ความคาดหวังหรือเป้าหมายเดิมเหมาะสมหรือไม่ ต้องการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร
    • ต้องทำอย่างไรให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ 
  • หลังทำ เรียกว่า "ถอดบทเรียน" เครื่องมือที่ใช้คือ AAR (After Action Review) 
    • อะไรบ้างที่เราบรรลุตามความคาดหวังหรือเป้าหมายความต้องการ และอะไรที่ได้มากกว่าเกิดคาด
    • อะไรที่ไม่บรรลุ เพราะเหตุใด 
    • หากมีโอกาสได้ทำอีกครั้ง ควรทำอย่างไรให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก
    • รู้สึกอย่างไร ประทับใจอะไร ได้พัฒนาจิตใจตนเองอย่างไรบ้างจากงานนี้ 
ดังนั้น คำว่า "ถอดบทเรียน" จึงเป็นกิจกรรมการเรียนรู้หลังจากที่เราได้เรียนรู้  ไม่ได้หมายความรวมถึงทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา
อะไรคือสาระอะไรไม่ใช่สาระ
...ในทางพุทธศาสนา เรามีคำถามนำทางการดำเนินชีวิตอยู่ ๓ คำถาม คือ
  • อะไรมีสาระ อะไรไม่มีสาระ
  • สิ่งที่มีสาระนั้น อะไรที่มีประโยชน์ อะไรที่ไม่มีประโยชน์
  • สิ่งที่มีสาระและมีประโยชน์นั้น สิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ....
ผมคิดว่ความหมายหรือนิยามของคำว่า "ถอดบทเรียน" ไม่ใช่สาระ แต่สิ่งที่เป็นสาระคือ เป้าหมายของการ "ถอดบทเรียน"  หลังจากที่ผมเขียนบันทึกนี้ ท่านอาจารย์ JJ เข้ามา แสดงความเห็นที่มีคุณค่ามากว่า สิ่งสำคัญของการ "ถอดบทเรียน" คือ ทบทวนว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรหลังการเรียนรู้นั้น หรือ ALR (After Learning Review)  ผมประทับใจมาก เลยกลับมาบันทึกขยายความต่อในความเข้าใจของตน ดังนี้ว่า
สิ่งที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ และสมควรทำในการ "ถอดบทเรียน" คือ
  • ได้เรียนรู้อะไร จากใคร จากตรงไหน
  • อะไรที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดขึ้นตอนไหน เพราะอะไร 
  • จะเอาความรู้ที่ได้นั้นไปใช้อย่างไรหรือไม่
โดยต้องพิจารณาให้ครบทั้ง มิติของ กาย (การกระทำ) วาจา (มิติของการทำงานเป็นทีม) และ ใจ (มิติของตนเอง)
มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า "ถอดบทเรียน" ที่ดีจะสามารถ "ความรู้ฝึงลึก" (Tacit Knowledge) ในตัวของ "ตนเอง" ออกมาได้ เพื่อเผยแพร่เป็น Explicit knowledge ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

กระบวนกรกับการคุย ๓ ระดับ ที่ปรับจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หลักการหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และตกผลึกในใจจากบทบาท "คุณอำนวยเชิงรุก" ในการพูดคุยเสวนาใน "วงการศึกษา" หรือ "วงพัฒนาชุมชน" ต่างๆ คือ การคุย ๓ ระดับ ที่ปรับมาจากหลักการพัฒนา "เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ....

ในการจะพัฒนาชาวบ้าน ชุมชน หรือการพัฒนาคนนั้น ในหลวงสอนว่า ต้องช่วยให้มีอยู่ มีกิน พออยู่ พอกินก่อน จากนั้นค่อยมองไปยังชุมชน และระดับสังคม ประเทศชาติต่อไป .... ผมปรับใช้หลักนี้ในการ "ฟัง" และ "นำคุย" โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่

๑) ระดับตนเอง หมายถึง พูดถึงตัวเอง ครอบครัวตนเอง กิจการงาน หรือสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ที่ปลายทางเป็นผลประโยชน์จของตนเอง
๒) ระดับชุมชน หมายถึง พูดถึงการช่วยเหลือ เกื้อกูล แบ่งปัน ไปยังคนที่พวกเขารู้จักคุ้นเคย เป็นการให้ในระดับชุมชนคนใกล้ชิด เพื่อนพ้องน้องพี่ เพื่อประโยชน์ของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่
๓) ระดับสังคม หมายถึง พูดถึงผลประโยชน์ของสังคม หรือประเทศชาติ ซึ่งจะกว้างขวางแตกต่างกันไป แล้วแต่เราจะวนิจฉัยเป็นกี่ระดับย่อยๆ ต่อไป 

ผมยึดหลักนี้ในการ "ฟัง" และ "ซักถาม" โดยไม่เข้าไปแทรกแซง "นำคุย" โดยไม่จำเป็น  ขณะที่ฟัง ผมจะพิจาณาว่า เขากำพูดในระดับใด โดยปกติคนทั่วไปจะพูดอยู่ในระดับที่ ๑) แต่เมื่อมีใครใน "วง" พูดถึงประโยคหรือคำใด อยู่ในระดับ ๒)  ผมจะ "หยิบ" เอาคำนั้นมาเป็นประเด็นเพื่อพา "วง" ก้าวขึ้นมาระดับสูงขึ้นทันที.... อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์บอกผมว่า โดยมากคนมักคุยอยู่ระดับ ๑)  หรือแม้จะดูเหมือนคุยในหัวเรื่องในระดับ ๒) หรือ ๓) แต่เบื้องหลังแห่งการคุยก็ยังมาจากผลประโยชน์ของตนเองอยู่ดี

... การคุยสามระดับนี้ สำคัญคือ จะต้อง "ฟัง" อย่างไม่มีอคติจริงๆ และจะต้องพร้อมที่จะให้การพูดคุยของ "วง" กระโดดข้ามไปมาระหว่างระดับเหล่านี้ได้ การสังเกตการสั่งสมของพลังในแต่ละระดับ คือปัจจัยสำคัญสำหรับกระบวนกรในการ "ยกระดับ" ของ "วง" ....

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการเขียน " หลักการและเหตุผล " เพื่อเสนอโครงการ

หลักคิดสำคัญในการเขียนโครงการ ก็คือ "หลักความพอเพียง" นั่นเอง "หลักการและเหตุผล" จะแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนโครงการยึดห่วง "หลักวิชา" และ "เหตุผล" หรือไม่ในการ "วางแผน" (คิดก่อนทำ) อย่างรอบคอบต่อไป

ผมสอนน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันว่า ในการเขียนโครงการเราต้องให้ความสำคัญกับ "หลักการและเหตุผล" ควรเขียนใหม่ ด้วยตนเองทุกๆ ครั้ง หลังจากที่รับหลักการหรือแนวทางจาก "ทีม" "ที่ประชุม" แม้ว่าจะเป็นงานประจำที่ทำซ้ำๆ กันทุกปี

หลักการและเหตุผลจะแสดงและสะท้อน "กระบวนทัศน์" หรือวิธีคิด และกระบวนการหรือวิธีทำงานอย่างชัดเจน หน่วยงานใดที่เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) "หลักการและเหตุผล" จะแฝงเรื่องราวของการเรียนรู้สู่เจตนารมณ์ของโครงการถึงระดับ "คุณค่า" และมี "ความหมาย" สอดคล้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์กร

ต่อไปนี้เป็นเทคนิคในการเขียน "หลักการและเหตุผล" เพื่อเสนอโครงการ ที่ผมทำจนกล้านำมาบอกต่อครับ ...
  • พิจารณาว่าโครงการนั้น มีเป้าประสงค์หลักไปในแนวใด ระหว่าง 
    • โครงการตามนโยบายเบื้องบน ตาม KPI ร่วมกันกับมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นเป้าประสงค์ตามวิสัยทัศน์ของเราโดยตรง 
    • โครงการที่เป็นเป็าประสงค์หรือ KPI ของหน่วยงานเรา และ
    • โครงการเพื่อแก้ปัญหา เป็นโครงการประเภทพัฒนาหรือวิจัยนั่นเองครับ 
  • วิธีเขียนให้แบ่งเป็น 3 ย่อหน้า ตอบ 3 คำถาม คือ ทำไมต้องทำ จะทำอย่างไรคร่าวๆ และทำแล้วจะได้อะไรหรือผลที่คาดว่าจะได้รับหรือสรุปย่อของวัตถุประสงค์
  • วิธีเขียนย่อหน้าแรกนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของโครงการ ดังนี้ 
    • โครงการตามนโยบาย ให้เขียนเกี่ยวกับนโยบาย 
    • โครงการที่เป็นเป้าของเราโดยตรง ให้เขียนถึง เจตนารมณ์ของ KPI ข้อนั้นๆ 
    • โครงการพัฒนาหรือวิจัย ให้เขียนถึงปัญหา 
 ท่านผู้อ่านล่ะครับ ท่านใช้วิธีใด....

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

คิดแบบ ไอ วี อิท (I-We-It) เทคนิคการพิจารณาว่า มาถูกทางหรือไม่

วันที่ 21-24 สิงหาคม 2556 ผมได้เรียนรู้เทคนิคการคิดแบบ I-We-It จากท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์
ดูได้เลยครับ



ผมนำกล้บมาปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้นเล็กน้อย ดังรูปครับ
  

วิธีการคิด (เป็นเพียงตัวอย่าง ไม่ตายตัว)
  • ขั้นแรก ให้พิจารณาก่อนว่า "ฉัน" ทำอะไร ทำไมจึงทำ ทำอย่างไร ทำแล้วได้อะไร ... หากคุณค่าในตนเองให้เจอก่อน  (I-Value)
  • ขั้นต่อมา ให้พิจารณาว่า "ฉัน" ทำกับใคร ใครเกี่ยวข้องกับเป้าหมายนั้นบ้าง ใครแต่ละคนเกี่ยว ข้องอย่างไร  เราคือใคร และใครควรจะเป็น "เรา" (มีเป้าหมายร่วมกัน) คือหาค่านิยมร่วม (Share-Value)
  • ขั้นสุดท้าย ให้ร่วมกันคิดพิจารณาหา โครงสร้าง/กระบวนการ/วิธีการ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เรามี ก่อนจะร่วมกันระดมยุทธวิธี หรือ รูปแบบหรือโมเดลของ "เรา" เพื่อให้ร่วมกันมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์ร่วมกัน
หลักสำคัญแบะข้อควรระวัง
  • สิ่งสำคัญที่สุดคือ "ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์" 
  • คนเราเกิดมาเพื่อ "ร่วมมือ" ไม่ใช่เกิดมาเพื่อ "แข่งขัน"  ....มันอยู่ในดีเอ็นเอของเราอยู่แล้ว 
  • ผู้บริหารมักมีวิธีคิดแบบ I กับ It ลืมไปว่า คนทำงานก็มีชีวิตที่ต้องการความสุขเหมือนกัน 
  • คนเห็นแก่ตัว คนทะเยอทะยาน คนมัใหญ่ใฝ่สูง มักเห็น It กับ I  โดยไม่จริงใจกับใครจริงๆ 
  • กัลยาณมิตร จะดำเนินชีวิตให้ I-We-It สมดุลให้มากที่สุดสำหรับชีวิตของ "เรา"
  • ฯลฯ