ผมมีได้แรงบันดาลใจที่จะเขียนบันทึกนี้หลังจากอ่านบันทึกของครูเพ็ญศรี ใจกล้า เรื่อง "PBL: กระบวนการละคร" (อ่านได้
ที่นี่) โดยไม่ได้คิดอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่วาดรูปใหม่ และบันทึกไว้ตรงนี้เพื่อเผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือในการใช้ แผนผังต้นมะม่วง Mango Mind Mapping (3M)) นี้ ในการทำ PLC ต่อไป
ผมจำได้ว่าครูเพ็ญศรี พูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว เข้าใจว่า น่าจะเป็นวิธีที่ท่านนำมาใช้กับนักเรียนที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคมแล้วได้ผลดี คือ สามารถทำให้นักเรียนพัฒนาการคิดวิเคราะห์และมีทักษะ ๓ ประการ อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ผ่านโครงงานบนฐานชีวิตจริง ได้แก่
- วิเคราะห์ปัญหา กำหนดปัญหา และระดมสมองหาวิธีแก้ปัญหาเป็นทีมได้
- เขียนหลักการและเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงงาน และเขียนเค้าร่างโครงงานได้
- "ถอดบทเรียน" สื่อสาร ถ่ายทอด และนำเสนองานของกลุ่มตน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นด้วยวิธีหรือช่องทางต่างๆ ได้
และ ผมเข้าใจว่า ครูเพ็ญศรี และนักเรียนกลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" ได้เรียนรู้วิธีการนี้มานานแล้วเมื่อครั้งไปร่วมฝึกอบรมในโครงการ "ปลูกใจรักษ์โลก" ของ "กองทุนไทย" ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล (ผิดถูกอย่างไรให้ท่านมาโพสท์อธิบายนะครับ) และผมตีความว่า เทคนิคนี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จประการหนึ่งของทีม "ฮักนะเชียงยืน"
แนะนำให้ท่านอ่านบันทึกเรื่อง "
ต้น PBL" ก่อนจะอ่านต่อไป จะทำให้ท่านเข้าใจได้ทันที และเชื่อมโยงนำไปใช้ต่อได้ง่ายและเป็นระบบขึ้น
วิธีนี้เริ่มจาก "สร้างแรงบันดาลใจ" ให้นักเรียน (หรือกลุ่มเป้าหมาย) แต่ละคนคิดถึง "ตนเอง->บ้านตนเอง-> โรงเรียน->และชุมชนของตนเอง" ว่า ตอนนี้มีความสุขหรือความทุกข์ พอใจหรือพอเพียงใจหรือยัง มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากจะทำให้ดีกว่านี้ต้องมีสิ่งใดอีก ฯลฯ แล้วแบ่งกลุ่ม (แนะนำกลุ่มละ ๔-๕ คน) วิเคราะห์ อธิบาย อภิปรายปัญหาของตนและคนอื่นในกลุ่ม ก่อนจะร่วมกัน "กำหนดปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย" ต่อทุกคนในกลุ่ม ผมขอเสนอให้พิจารณาว่า เป็น "ปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย" หรือไม่ ดังนี้
- เป็นปัญหาที่สมาชิกของกลุ่มมี "ฉันทามติ" ร่วมกัน คือ ชอบ รัก มุ่งมั่นที่จะ "ลุย" ร่วมกัน...ไม่ใช่ทำไปเพื่อคะแนน
- เป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือทำร่วมกันจริงๆ นักเรียนจะได้สัมผัสจริง ได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้หรือฝึกฝนมาในโรงเรียนไปใช้แก้ปัญหา
- เป็นปัญหาในชีวิตจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางตรงหรือทางอ้อม ที่มีความท้าทาย ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป ต้องใช้สมาธิกับการศึกษาและแก้ปัญหาเป็นเวลานาน
- เป็นปัญหาที่เมื่อแก้แล้วจะเป็นประโยชน์เพื่อคนอื่น เช่น ปัญหาส่วนรวม ปัญหาชุมชน ปัญหาสังคม ฯลฯ ... ธรรมชาติของคนจะมีความสุขจากการให้ ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่หากแก้ไขได้จะนำความภูมิใจมาให้มาก
- ฯลฯ....
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ควรมีการกำหนดตายตัว หัวใจสำคัญคือ ให้นักเรียนเป็นคนกำหนดปัญหาเอง
วิเคราะห์ปัญหา (พัฒนาโจทย์)
แล้วให้แต่ละกลุ่มระดมปัญหาโดยใช้ "ต้น PBL ยืนต้นตาย" โดยแยกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) ปัญหาหรือสถานการณ์ ๒) ผลกระทบด้านลบ และ ๓) สาเหตุของปัญหา และเน้นความเชื่อมโยงแบบ "อิทัปปัจจยตา" คือพิจารณาว่า สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เป็นลำดับหรือระดับชั้นไปเรื่อยๆ
ระดมสมองหาวิธีแก้ไข (ร่างเค้าโครงงาน (วิจัย))
เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาชัดเจน ควรพิจารณาแยกหมวดหมู่สาเหตุปัญหาเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ ๑) สาเหตุปัญหาที่เรียกว่า "ข้อจำกัด" คือเราแก้ไขไม่ได้ ๒) สาเหตุปัญหาที่เราแก้ไขได้ และ ๓) สาเหตุปัญหาที่เราอาจแก้ได้ถ้าได้รับความร่วมมือหรือช่วยเหลือจากใครเพิ่ม แล้วเลือกสาเหตุของปัญหาในกลุ่มที่ ๒) หรือ ๓) มาพิจารณา "เปลี่ยนเป็นเป้าหมาย/วัตถุประสงค์" ลงใน "ต้น PBL" โดยให้รากเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา ส่วน "กิ่ง ก้าน ใบ" ให้เป็นผลกระทบด้านดีที่จะได้หรือตามมา ส่วน "กิ่งตาย" ให้เป็น "ผลร้าย" ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความรอบคอบ ระมัดระวังในการดำเนินการ (ตามหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง) ดังรูป
อย่าลืม "ถอดบทเรียน" ว่าทำแล้วได้ "ผล" (มะม่วง) ที่เปรียบเป็นทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยนะครับ เพราะนั่นคือ "เป้าหมายที่แท้จริง" ของ PBL